Custom Search

วันพฤหัสบดีที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติคลองลาน กำแพงเพชร/ท่องเที่ยวป่าเขา ไทยคึกคัก













อุทยานแห่งชาติคลองลาน

ตั้งอยู่ในเขตตำบลคลองลานพัฒนา ตำบลคลองน้ำไหล และตำบลโป่งน้ำร้อน มีเนื้อที่ 187,500 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2525 มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ประกอบด้วยป่าเต็งรัง ป่าดงดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ สัตว์ป่านานาชนิดไม่น้อยกว่า 265 ชนิด 81 วงศ์ เป็นป่าต้นน้ำของลำธารหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก คลองลาน และคลองน้ำไหล ไหลรวมกันสู่แม่น้ำปิง สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบผสมป่าเบญจพรรณ บนเทือกเขาสลับซับซ้อน ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร ช่วงเวลาที่เหมาะจะเดินทางมาท่องเที่ยวคือช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์

สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
น้ำตกคลองลาน อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 200 เมตร เกิดจากเทือกเขาขุนคลองลานเขาคลองขลุง และเขาคลองสวนหมาก เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ ไหลลงมาจากหน้าผาสูง 100 เมตร กล้าง 40 เมตร และด้านล่างของน้ำตกเป็นแหล่งน้ำที่ลงเล่นน้ำได้ อยู่ห่างจากตลาดคลองลาน 4 กิโลเมตร

น้ำตกคลองน้ำไหล (น้ำตกปางควาย) อยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 25 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 1117 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 35-36 จะมีป้ายบอกทางเข้าอีก 10 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดกลาง มี 9 ชั้น ไหลจากหน้าผาสูง 60 เมตร แต่ละชั้นมีแอ่งน้ำและความสูงต่างกัน ลานหินที่นี่กว้างมาก ลำธารสวยด้วยโขดหิน ในชั้นที่ 3 น้ำตกจะแยกเป็น 2 สาย ดูสวยงาม ทางฝั่งขวาไหลลงสู่แอ่งน้ำกว้างประมาณ 3 เมตร สามารถลงเล่นน้ำได้ มีน้ำไหลตลอดปี

แก่งเกาะร้อย สามารถเดินทางไปตามทางหลวงหมายเลข 1117 เมื่อถึงสามแยกโป่งน้ำร้อนจะมีทางลาดยางแยกเข้าไปประมาณ 16 กิโลเมตร แก่งเกาะร้อยมีลักษณะเป็นลำธารจากคลองสวนหมากไหลผ่านซอกแก่งหินตามลำห้วย มองดูคล้ายเกาะเล็ก ๆ อยู่กลางลำน้ำ จากหน่วยพิทักษ์คลองสวนหมาก จะต้องนั่งรถขับเคลื่อนสี่ล้อเข้าไปตามถนนดินลูกรัง ประมาณ 5 กิโลเมตร จะถึงจุดลงแพ คือตาดผาแดง จากนั้นจะล่องแพผ่านผาชมจันทร์ ตาดช่องแคบ ที่สองข้างทางเป็นโขดหินโอบล้อมอยู่ น้ำค่อนข้างแรง จากนั้นจะล่องผ่านแก่งเกาะร้อย บริเวณนี้น้ำจะแรงและมีแก่งมาก ให้ความตื่นเต้นแก่นักล่องแก่งได้พอสมควร ใช้เวลาในการล่องประมาณ 1.5 ชั่วโมง สำหรับความยากในการล่องอยู่ระดับ 2-3 นอกจากนั้นใกล้ ๆ หน่วยพิทักษ์คลองสวนหมากยังมีถ้ำไทรหายโศก ห่างจากหน่วยพิทักษ์ฯ 2 กิโลเมตร ซึ่งอยู่บริเวณใต้ผาชมจันทร์ ในถ้ำจะมีหินงอกหินย้อยและค้างคาวจำนวนมากอาศัยอยู่ และถ้ำยาวสันติสุข ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่สวยงามและค้างคาวอาศัยอยู่เช่นเดียวกัน ทั้ง 2 ถ้ำ หากสนใจจะไปเที่ยวชม ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์ฯ นำทางเข้าไปและต้องเตรียมไฟฉายไปเอง การล่องแก่งเกาะร้อย เวลาที่เหมาะจะล่องคือระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม เป็นช่วงที่มีน้ำมาก จะทำให้การล่องแก่งมีความสนุกสนานมากขึ้น นอกจากนั้นบริเวณหน่วยพิทักษ์ฯ มีสถานที่กางเต็นท์สำหรับผู้ที่ต้องการจะสัมผัสกับธรรมชาติที่ยังไม่ค่อยมีผู้ใดเข้าไปสัมผัสมากนัก แต่ต้องนำเต็นท์และอุปกรณ์ในการทำอาหารไปเอง เพราะยังไม่มีร้านค้าให้บริการ และหากสนใจจะล่องแก่งเกาะร้อยสามารถติดต่อได้ที่ อุทยานแห่งชาติคลองลาน หรือ บริษัท ฟูจิทัวร์ โทร. 0 2518 0240, 0 2918 6067-8 ชากังราวการท่องเที่ยว โทร. 0 5572 0383

อุทยานแห่งชาติคลองลาน มีบ้านพัก 6 หลังสำหรับผู้ที่ต้องการพักเต็นท์ต้องนำเต็นท์ไปเองโดยเสียค่าธรรมเนียมสถานที่กางเต็นท์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อุทยานแห่งชาติคลองลาน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร 62180 โทร. 0 5576 6022-3 ติดต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โทร. 0 2562 0760 หรือสำรองที่พักด้วยตนเองที่ http://www.dnp.go.th

การเดินทาง โดยรถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่านจังหวัดนครสวรรค์ มาประมาณ 17 กิโลเมตร ถึงหนองเบนจะมีทางแยกซ้ายมือเข้าอำเภอลาดยาว จากนั้นใช้ทางหลวง 1072 ลาดยาว คลองลาน ระยะทาง 102 กิโลเมตร ถึงสี่แยกตลาดคลองลานตรงไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ หรือจากตัวจังหวัดกำแพงเพชรใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 346 บ้านคลองแม่ลาย ใช้เส้นทางแยกขวาไปอำเภอคลองลาน ตามทางหลวง 1117 สายคลองลานอุ้มผาง ระยะทาง 46 กิโลเมตร ถึงสี่แยกตลาดคลองลาน แยกขวามือไปอุทยานฯ อีก 6 กิโลเมตร เป็นทางลาดยางตลอดสาย หรือนั่งรถโดยสารประจำทางจากสถานีขนส่งจังหวัด หรือรถสองแถวจากท่ารถถนนวิจิตร ใช้รถสายกำแพงเพชร-คลองลาน ลงที่สี่แยกตลาดคลองลานแล้วเหมารถสองแถวหรือมอเตอร์ไซด์ไปยังที่ทำการอุทยานฯ



อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กำแพงเพชร/ท่องเที่ยวป่าเขา ไทยคึกคัก





















อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุม 2 จังหวัด คือจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดนครสวรรค์ เป็นหนึ่งในผืนป่าตะวันตกที่มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์มากที่สุดตั้งแต่จังหวัดตากจนถึงจังหวัดกาญจนบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ทิศเหนือของอุทยานฯติดกับอุทยานแห่งชาติคลองลาน ทิศใต้ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี และทิศตะวันตกติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14กันยายน 2530

ป่าส่วนใหญ่ของอุทยานฯประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบ และป่าเต็งรัง มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญและมีค่ามากมาย เช่น สัก ประดู่ มะค่าโมง ยางแดง เต็ง รัง เป็นตัน นอกจากนี้ยังมีสัตว์ป่าที่หายาก เช่น ช้างป่า กระทิง เสือ กวาง เก้ง หมี แมวลาย และนกต่าง ๆ มากกว่า 305 ชนิด จาก 53 วงศ์ ซึ่งนกบางชนิดพบเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย เช่น นกกระเต็นขาวดำใหญ่ นกเงือกคอแดง นกกางเขนดง นกโพระดกหูเขียว และนกพญาปากกว้างหางยาว เป็นต้น ช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวมากที่สุดคือฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์

สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจภายในอุทยานฯ
แก่งผานางคอย อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 1,800 เมตร เป็นแก่งหินลำห้วยคลองขลุง จากบริเวณแก่งหินเดินขึ้นไปประมาณ 350 เมตร จะถึงน้ำตกผานางคอย เป็นน้ำตกเล็ก ๆ มี 4 ชั้น และบริเวณใกล้น้ำตกสามารถกางเต็นท์พักแรมได้ด้วย
จุดชมวิว กม. ที่ 81 จากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามถนนคลองลาน-อุ้มผาง ประมาณ 16 กิโลเมตร จะถึงบริเวณหน้าผา เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพของป่ารอบ ๆ ได้อย่างสวยงาม บริเวณนี้สามารถกางเต็นท์พักแรมได้
ช่องเย็น กม. ที่ 93 อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 28 กิโลเมตร เป็นจุดสูงสุดของถนนคลองลาน-อุ้มผาง สูง 1,340 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีสายลมพัดผ่านและหมอกปกคลุมอยู่เสมอ อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี และเป็นที่ดูพระอาทิตย์ตกได้อย่างสวยงามอีกจุดหนึ่ง สภาพป่าทั่วไปเป็นป่าดิบเขา มีกล้วยไม้หายาก เช่น สิงโตกลอกตา เฟิร์น มหาสดำ มีนกหายาก เช่น นกเงือกคอแดง นกภูหงอนพม่า นกพญาปากกว้างหางยาว และนกหัวขวานใหญ่หงอนเหลือง นกเหล่านี้จะพบเห็นได้บริเวณบ้านพัก บริเวณ ช่องเย็นมีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการ แต่จะต้องเตรียมอุปกรณ์มาเอง คือ ผ้าพลาสติก เสื้อกันหนาว ตะเกียงหรือไฟฉาย เพราะไม่มีไฟฟ้าหรือเตาแก๊สสำหรับการปรุงอาหาร โลชั่นกันแมลง และถุงสำหรับนำขยะลงไปทิ้ง เพราะช่องเย็นไม่สามารถกำจัดขยะได้ เส้นทางขี้น-ลง
ช่องเย็นเป็นทางเลียบหน้าผาทางแคบรถไม่สามารถสวนกันได้ ทางอุทยานฯ จึงได้กำหนดเวลาขึ้น-ลง คือ เวลาขึ้น 05.00-06.00 น. 09.00-10.00 น. และ 13.00-14.00 น. เวลาลง 07.00-08.00 น. 11.00-12.00 น. และ 15.00-16.00 น.
ยอดเขาโมโกจู เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และสูงที่สุดในผืนป่าตะวันตก ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 27 กิโลเมตร เป็นยอดเขาที่นักนิยมการท่องเที่ยวแบบเดินป่า ปีนเขา ต้องการที่จะไปเยือนสักครั้ง ด้วยความสูง 1,964 เมตร คำว่า โมโกจูเป็นภาษากะเหรี่ยง แปลว่า เหมือนฝนจะตก เนื่องจากบนยอดเขามักถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอกและมีอากาศหนาวเย็นตลอดเวลา ผู้สนใจจะไปสัมผัสยอดเขาโมโกจู ต้องเตรียมความพร้อมของร่างกายเพราะจะต้องขึ้นเขาที่มีความลาดชันไม่ต่ำกว่า 60 องศา ใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ 5 วัน และต้องพักแรมในป่าตามจุดที่กำหนด นอกจากนั้นควรศึกษาสภาพเส้นทาง สภาพอากาศ และติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางก่อนจากทางอุทยานฯ ก่อนตัดสินใจจะไปสัมผัส โมโกจูช่วงที่จะเปิดให้เดินขึ้นยอดเขาโมโกจู คือเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
น้ำตกแม่กระสา เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มี 9 ชั้น สูง 900 เมตร อยู่ห่างจากอุทยานฯ ประมาณ 18 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินเท้าไป-กลับ 3-4 วัน
น้ำตกแม่รีวา อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ประมาณ 21 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สวยงามมาก มี 5 ชั้น รถเข้าไม่ถึงเช่นเดียวกันต้องใช้เวลาในการเดินทางไป-กลับ 2 วัน
น้ำตกแม่กี เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่บริเวณเดียวกับน้ำตกแม่รีวาและน้ำตกแม่กระสา มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาถนนธงชัย การเข้าไปยังน้ำตกต้องเดินเท้าเวลาไป-กลับ 3-4 วัน
น้ำตกนางนวลและน้ำตกเสือโคร่ง อยู่บริเวณ กม.ที่ 99 ของถนนคลองลาน-อุ้มผาง น้ำตกนางนวลต้องไต่เขาลงไปประมาณ 200 เมตร สำหรับน้ำตกเสือโคร่ง ต้องเดินไป 1 กิโลเมตร การเดินทางเข้าไปน้ำตกทั้งสองแห่งต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนทุกครั้ง
นอกจากนั้นอุทยานฯ ยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกนางนวล ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร และเส้นทางศึกษาธรรมชาติน้ำตกธารบุญมี ซึ่งใช้เวลาในการเดิน 2 ชั่วโมง สามารถศึกษาพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ และพันธุ์นกต่าง ๆ ที่หาดูได้ยากอีกด้วย

อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีแหล่งท่องเที่ยวที่ต้องเดินป่าระยะไกลซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อถึงฤดูกาลท่องเที่ยว ทางอุทยานฯ จะจัดทำตารางกำหนดเวลาเดินป่าระยะไกลประจำปีซึ่งนักท่องเที่ยวต้องปฏิบัติตามกติกาการเดินทางอย่างเคร่งครัด และควรติดต่อจองเวลาการเดินทางและขอคำแนะนำในการเตรียมตัวและอุปกรณ์จากเจ้าหน้าที่อุทยานให้พร้อม ทางอุทยานฯ มีบ้านพักและสถานที่กางเต็นท์ไว้บริการนักท่องเที่ยว แต่ต้องนำเต็นท์มาเอง สอบถามข้อมูลได้ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ กิโลเมตรที่ 65 ถนนคลองลาน-อุ้มผาง กิโลเมตรที่ 65 อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 62180 โทร. 0 5576 6024 0 5576 6027 หรือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เขตบางเขน กรุงเทพฯ
โทร.0 2562 0760 หรือ www.dnp.go.th หรือ ตู้ ป.ณ. 29 อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร 62180

การเดินทาง จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 เลี้ยวซ้าย กม.ที่ 338 เข้าทางหลวงหมายเลข 1117สายคลองลาน-อุ้มผาง เมื่อถึงสี่แยกเข้าคลองลานให้ตรงไปอีก 19 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานฯ แต่หากใช้ทางหลวง 1072 ลาดยาว-คลองลาน เมื่อถึงสี่แยกตลาดคลองลานแล้วให้เลี้ยวซ้ายไปที่ทำการอุทยานฯ หรือ นั่งรถโดยสารปรับอากาศ กรุงเทพฯ- คลองลาน ลงที่ตลาดคลองลาน แล้วเหมารถสองแถวหรือรถมอเตอร์ไซด์ไปอุทยานฯ ได้เช่นเดียวกัน


วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เที่ยวเขาค้อทะเลหมอก เพชรบูรณ์/ท่องเที่ยวป่าเขา ไทยคึกคัก





ที่ตั้งเขาค้อทะเลหมอก จังหวัดเพชรบูรณ์
บ้าน สิมารักษ์ เลขที่ 53 หมู่ที่ 3 ตำบลเขาค้อ อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดิน สาย 2196 (สะเดาะพงศ์-แค้มสน) บริเวณหลัก กม.ที่ 21 จุดชมวิวเหนืออ่างเก็บน้ำรัตนัย สังเกตุเสาโทรศัพท์ขนาดใหญ่ 2 ต้น DTAC GSM
อยู่ห่างจาก ที่ว่าการอำเภอเขาค้อ โรงพยาบาลเขาค้อ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเขาค้อประมาณ 1 กิโลเมตร

เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ
081-3247291 087-2083926 081-8886927 056-728278(fax)





การเดินทาง
จาก อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ ตามถนนสาย 21 ระยะทางประมาณ(13 กม) ถึงสามแยกนางั่ว ประมาณหลัก กิโลเมตรที่ 222 ให้เลี้ยวซ้ายเข้าถนน สาย 2258 ระยะทางประมาณ 27 กิโลเมตร ถึงสี่แยกสะเดาะพงศ์ ให้เลี้ยวขวา ตามถนนสาย 2196(7 กม) ถึงหลักกิโมเมตรที่ 21 สังเกตุเสาโทรศัพท์ขนาดใหญ่ 2 ต้น ตั้งอยู่ จะเห็นป้ายทางด้านซ้าย "เขาค้อทะเลหมอก" เป็นอันว่าถึงแล้ว
จาก อำเภอเมืองเพชรบูรณ ตามถนนสาย 21 ถึงสี่แยกพ่อขุนผาเมือง ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร (สังเกตุอนุสรณ์สถานพ่อขุนผ่าเมือง) ให้เลี้ยวซ้ายไปตามถนนสาย 12 ช่วงนี้เป็นช่วงขึ้นเขาข้อทางไม่ชัน สะดวก ถึงสามแยกแคมป์สน ระยะทางประมาณ 25 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายตามถนนสาย 2196 เข้าสู่ตัวอำเภอเขาค้อ ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร (หลัก กิโลเมตรที่ 21) ทางด้านขวาเห็นป้าย "เขาค้อทะเลหมอก"
จากจังหวัดพิษณูโลก ตามทางหลวงสาย 12 ถึงสามแยกแคมป์สน อำเภอเขาค้อ หลักกิโลเมตรที่ 234 (ระยะทางประมาณ 120 กิโลเมตร) ให้เลี้ยวขวาตามถนนสาย 2196 เข้าสู่ตัวอำเภอเขาค้อ ระยะทางประมาณ 19 กิโลเมตร (หลัก กิโลเมตรที่ 21) ทางด้านขวาเห็นป้าย "เขาค้อทะเลหมอก"


เขาค้อทะเลหมอก เป็นรีสอร์ทที่ให้บริการในด้านที่พัก สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่เรียกว่า สวิทแลนด์เมืองไทย ที่มีความสวยงามของป่าเขา สถานที่ท่องเที่ยวที่น่าประทับใจมากมาย และสัมผัสอากาศบริสุทธิ์บนพื้นที่สูง สัมผัสไอหนาว และทะเลหมอกอันแสนสวย"ชมทะเลหมอกยามเช้า สัมผัสอากาศหนาวที่สดชื่น" ณ.เขาค้อทะเลหมอก รีสอร์ท





การบริการของเขา
- มีบ้านพัก จำนวน 10 หลัง
- มีเต็นท์โดมขนาดใหญ่ 3 ห้องนอน เต้นท์ VIP(อุปกรณ์มี tv )
- มีเต็นท์ขนาด 2 คน ไว้รองรับนักท่องเที่ยวมาสัมผัสกับทะเลหมอก 100 เต้นท์
- มีห้องน้ำ 22 ห้อง มีเครื่องทำน้ำอุ่นทุกห้อง สะอาดปลอดภัย
- สามารถรับนักท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะได้มาณ 300 คน
- มีบริการอาหาร เครื่องดื่ม ของฝาก ของที่ระลึกเวลาเดินทางกลับบ้าน
- มี รถสองแถว รับจ้างบริการนำเที่ยว ๆในอำเภอเขาค้อ และ อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า และภูทับเบิก, อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว, ทุ่งแสลงหลวง



ขุนช่างเคี่ยน ซากุระ เชียงใหม่/ท่องเที่ยวป่าเขา ไทยคึกคัก



การเดินทางไปยังขุนช่างเคี่ยน ซากุระ เชียงใหม่

อยู่ทางทิศเหนือของยอดดอยปุย ห่างจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ประมาณ 8 กิโลเมตร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 32 กิโลเมตรตามเส้นทางสายเชียงใหม่-พระธาตุดอยสุเทพ ลักษณะถนนจากเมืองเชียงใหม่ถึงพระตำหนักฯ ลาดยางเป็นระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร จากนั้นเป็นถนนโรยกรวดขนาดเล็กจากพระตำหนักไปถึงยอดดอยปุยอีกประมาณ 4 กิโลเมตร และเป็นถนนดินที่มีผิวทางค่อนข้างชำรุดจากยอดดอยปุยไปทางหมู่บ้านม้งขุนช่าง เคี่ยนอีกประมาณ 4 กิโลเมตร






ดงดอกซากุระดอย ขุนช่างเคี่ยน ดอยนี้สีชมพู

ซากุระดอย หรือนางพญาเสือโคร่ง ( Prunus cerasoides D. Don ) เป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ในพื้นที่สูงทางตอนใต้ของประเทศจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ในประเทศไทย พบขึ้นตามภูเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000-2,000 เมตร เช่น บนดอยอินทนนท์ ดอยเชียงดาว ฯลฯ เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ สูงประมาณ 10-15 เมตร ดอก สีขาว ชมพู ออกเป็นช่อกระจุกใกล้ปลายกิ่ง ก้านดอกยาว 0.7-2 เซนติเมตร ขอบริ้วประดับจักไม่เป็นระเบียบ กลีบเลี้ยงติดกันเป็นรูปกรวย กลีบดอกมี 5 กลีบ เมื่อบานขนาดโตเส้นผ่าศูนย์กลาง 1-2 เซนติเมตร ระยะเวลาออกดอก ออกดอกระหว่างเดือนธันวาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยจะทิ้งใบก่อนออกดอก มองเห็นแต่ดอกสีชมพูทั้งต้น บริเวณที่มีต้นนางพญาเสือโคร่งขึ้นอยู่หนาแน่น เช่นตามหุบเชิงดอย เมื่อถึงเวลาออกดอกก็จะออกพร้อมๆกัน จะเห็นเป็นสีชมพูสะพรั่งไปทั้งดอย

สถานีวิจัยและศูนย์ฝึกอบรมเกษตรที่สูงขุนช่างเคี่ยน และหมู่บ้านชาวม้งบ้านขุนช่างเคี่ยน เป็นแหล่งที่มีต้นนางพญาเสือโคร่งขึ้นอยู่มาก ทั้งตามข้างทางถึงในหมู่บ้าน และยังเป็นแหล่งชม ดอกซากุระดอย ที่อยู่ใกล้เมืองเชียงใหม่มากที่สุด เพิ่งมีชื่อเสียงเมื่อไม่นานนัก อาจจะเป็นเพราะเส้นทางช่วงจากพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ถึงขุนช่างเคี่ยน ค่อนข้างแคบ และเลียบไหล่เขา รถนำเที่ยวขนาดใหญ่ขึ้นไม่ได้ นักท่องเที่ยวที่เข้าถึงจึงเป็นกลุ่มที่เดินทางมาเองกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกปีเพราะดงดอกซากุระดอย ที่ขุนช่างเคี่ยนมีความสวยงามไม่แพ้ใคร






คำแนะนำในการท่องเที่ยว

สถานีวิจัยฯ จัดบ้านพักทรงเอเฟรมไว้ทั้งสิ้น 3 หลัง สามารถพักอาศัยได้เป็นกลุ่มเล็กๆ ไม่เกิน 15 คน ภายในเป็นห้องกว้างสำหรับพักรวม มี 2 ชั้น ชั้นบนสามารถจุคนได้ประมาณ 4-6 คน ส่วนชั้นล่างจุได้ประมาณ 8-12 คน มีที่นอน หมอนและผ้าห่ม ห้องน้ำ-สุขา อยู่ภายใน มีห้องครัว สำหรับจัดเตรียม อาหารขนาดเล็ก พร้อมเตาแก๊ส และ อุปกรณ์หุงต้มที่จำเป็น ในฤดูหนาว สามารถจุดเตาผิงภายใน เพื่อสร้างความ อบอุ่นได้ ในระหว่างพักอาศัย ผู้พักอาศัย สามารถชมทัศนียภาพโดยรอบสถานี


วันพฤหัสบดีที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่/ท่องเที่ยวป่าเขา ไทยคึกคัก


อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ มีอาณาเขตครอบคลุม 11 อำเภอของ 4 จังหวัด คือ จังหวัดสระบุรี จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก ได้รับสมญานามว่าเป็นอุทยานมรดกของกลุ่มประเทศอาเซียนเป็นป่าผืนใหญ่ตั้งอยู่ในเทือกเขาพนมดงรักในส่วนหนึ่งของดงพญาไฟหรือดงพญาเย็นในอดีต ประกอบด้วยขุนเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนหลายลูก เป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารที่สำคัญหลายสาย เช่น แม่น้ำนครนายก แม่น้ำมูล อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เช่น ช้างป่า กวาง เก้ง กระทิง เสือ ตลอดจนมีลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม มีเนื้อที่ 2,168.64 ตารางกิโลเมตรหรือ 1,355,396.96 ไร่

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพทั่ว ๆ ไปของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ประกอบด้วยเทือกเขาสลับซับซ้อนกันหลายลูก ได้แก่ เขาร่ม ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุด 1,351 เมตร เขาแหลมสูง 1,326 เมตร เขาเขียวสูง 1,292 เมตร เขาสามยอดสูง 1,142 เมตร เขาฟ้าผ่าสูง 1,078 เมตร เขากำแพงสูง 875 เมตร เขาสมอปูนสูง 805 เมตร และเขาแก้วสูง 802 เมตร ซึ่งวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลเป็นเกณฑ์ และยังประกอบด้วยทุ่งกว้างสลับกับป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ด้านทิศเหนือและตะวันออกพื้นที่จะลาดลง ทางทิศใต้และตะวันตกเป็นที่สูงชันไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารที่สำคัญถึง 5 สาย ดังนี้

แม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำนครนายก ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกษตรกรรมและระบบทางเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาคนี้ แม่น้ำทั้ง 2 สายนี้ มาบรรจบกันที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กลายเป็นแม่น้ำบางปะกงแล้วไหลลงสู่อ่าวไทย

แม่น้ำลำตะคองและแม่น้ำพระเพลิง ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทางทิศเหนือ ไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่เกษตรกรรมของที่ราบสูงโคราช ไปบรรจบกับแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของภาคอีสานตอนล่างไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ห้วยมวกเหล็ก ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือซึ่งมีปริมาณน้ำไหลตลอดทั้งปีและ ให้ประโยชน์ทางด้านการเกษตร โดยเฉพาะการปศุสัตว์ของภูมิภาคนี้ ไหลลงสู่แม่น้ำป่าสัก ที่อำเภอมวกเหล็ก

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพป่ารกทึบได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทำให้เกิดฝนตกชุกตามฤดูกาล อากาศไม่ร้อนจัดและหนาวจัดจนเกินไป จัดอยู่ในประเภทเย็นสบายตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวและประกอบกิจกรรมนันทนาการชนิดต่าง ๆ อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 23 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน แม้ว่าอากาศจะร้อนอบอ้าวในที่อื่น แต่ที่เขาสูงบนเขาใหญ่อากาศเย็นสบายเหมาะแก่การพักผ่อน และไม้ป่ามีดอกหลากสีบานสะพรั่งบ้างออกผลตามฤดูกาล

ฤดูฝน เป็นช่วงหนึ่งของปีที่สภาพบนเขาใหญ่ชุ่มฉ่ำ ป่าไม้ทุ่งหญ้าเขียวขจีสดสวย น้ำตกทุกแห่งไหลแรงส่งเสียงดังก้องป่าให้ชีวิตชีวาแก่ผู้ไปเยือน แม้การเดินทางจะลำบากกว่าปกติแต่จำนวนนักท่องเที่ยวก็ไม่ลดน้อยลงเลย

ฤดูหนาว ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นฤดูที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเขาใหญ่มากที่สุด ท้องฟ้าสีครามแจ่มใสตัดกับสีเขียวขจีของป่าไม้ พยับหมอกที่ลอยเอื่อยไปตามทิวเขา ดวงอาทิตย์กลมโตอยู่เบื้องหน้าไกลโพ้น อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน แต่รุ่งเช้าของวันใหม่เราจะพบกับธรรมชาติที่สวยงามแตกต่างไปจากเมื่อวานอีกแบบหนึ่งกิจกรรมเล่นแค้มป์ไฟ เหมาะสมในฤดูนี้มาก













พันธุ์ไม้และสัตว์ป่า

1. ป่าเบญจพรรณแล้ง ลักษณะของป่าชนิดนี้อยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งมีระดับความสูงระหว่าง 200-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ประกอบด้วยไม้ยืนต้นประเภทผลัดใบ เช่น มะค่าโมง ประดู่ ตะแบก ตะเคียนหนู แดง นนทรี ซ้อ ปออีเก้ง สมอพิเภก ตะคล้ำ เป็นต้น พืชชั้นล่างมีไม้ไผ่และหญ้าต่าง ๆ รวมทั้งกล้วยไม้ด้วย ในฤดูแล้งป่าชนิดนี้จะมีไฟลุกลามเสมอ และตามพื้นป่าจะมีหินปูนผุดขึ้นอยู่ทั่ว ๆ ไป

2. ป่าดงดิบแล้ง ลักษณะป่าชนิดนี้มีอยู่ทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นที่ราบลูกเนินในระดับความสูง 200-600 เมตร จากระดับน้ำทะเล ไม้ชั้นบน ได้แก่ ไม้ยางนา พันจำ เคี่ยมคะนอง ตะเคียนทอง ตะเคียนหิน ตะแบก สมพง สองสลึง มะค่าโมง ปออีเก้ง สะตอ ซาก และคอแลน เป็นต้น ไม้ยืนต้นชั้นรองมี กะเบากลัก หลวงขี้อาย และกัดลิ้น เป็นต้น พืชจำพวกปาล์ม เช่น หมากลิง และลาน พืชชั้นล่างประกอบด้วยพืชจำพวกมะพร้าว นกคุ้ม พวกขิง ข่า กล้วยป่าและเตย เป็นต้น

3. ป่าดงดิบชื้น ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นป่าที่อยู่ในระดับความสูง 400-1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล จะมีชนิดไม้คล้ายคลึงกับป่าดงดิบแล้ง เพียงแต่ว่าไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยางกล่อง ยางขน ยางเสี้ยน และกระบาก โดยเฉพาะพื้นที่ถูกรบกวนจะพบ ชมพู่ป่าและกระทุ่มน้ำขึ้นอยู่ทั่วไป พรรณไม้ผลัดใบ เช่น ปออีเก้ง สมพง และกว้าว แทบจะไม่พบเลย บริเวณริมลำธารมักจะมีไผ่ลำใหญ่ๆ คือ ไผ่ลำมะลอกขึ้นอยู่เป็นกลุ่ม นอกจากไม้ยางแล้วไม้ชั้นบนชนิดอื่น ๆ ยังมี เคี่ยมคะนอง ปรก บรมือ จำปีป่า พะดงและทะโล้ ไม้ชั้นรอง ได้แก่ ก่อน้ำ ก่อรัก ก่อด่าง และก่อเดือย ขึ้นปะปนกัน

4. ป่าดิบเขา ป่าชนิดนี้เกิดอยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นบนภูเขาสูง ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป สภาพป่าแตกต่างไปจากป่าดงดิบชื้นอย่างเห็นได้ชัด ไม่มีไม้วงศ์ยางขึ้นอยู่เลย พรรณไม้ที่พบเป็นไม้เนื้ออ่อน เช่น พญาไม้ มะขามป้อมดง ขุนไม้ และสนสามพันปี และ ไม้ก่อชนิดต่าง ๆ ที่พบขึ้นในป่าดงดิบชื้น นอกจากก่อน้ำและก่อต่าง ๆ ความสูงจากระดับน้ำทะเล 600-900 เมตรเท่านั้น ตามเขาสูงจะพบต้นกำลังเสือโคร่งขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป ไม้ชั้นรอง ได้แก่ เก็ดล้านส้มแปะ แกนมอ เพลาจังหัน และหว้า พืชชั้นล่าง ได้แก่ ต้างผา กำลังกาสาตัวผู้ กูด และกล้วยไม้ดิน

5. ทุ่งหญ้าและป่ารุ่นหรือป่าเหล่า ลักษณะป่าชนิดนี้เป็นผลเสียเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอยในอดีตก่อนมีการจัดตั้งป่าเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติได้มีราษฎรอาศัยอยู่และได้แผ้วถางป่าทำไร่ เมื่อมีการอพยพราษฎรลงไปสู่ที่ราบ บริเวณไร่ดังกล่าวถูกปล่อยทิ้ง ต่อมามีสภาพเป็นทุ่งหญ้าคาเสียส่วนใหญ่ บางแห่งมีหญ้าแขม หญ้าพง หญ้าขนตาช้างเลา และตองกง และยังมีกูดชนิดต่าง ๆ ขึ้นปะปนอยู่ด้วย เช่น โขนใหญ่ กูดปี้ด โขนผี กูดงอดแงด และกูดตีนกวาง

สัตว์ป่า

สัตว์ป่าที่สามารถพบได้บ่อย ๆ และตามโอกาสอำนวย ได้แก่ เก้ง กวาง ตามทุ่งหญ้าทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ยังพบ ช้าง เสือโคร่ง กระทิง เลียงผา หมี เม่น ชะนี พญากระรอก หรือ หมาไม้ ชะมด อีเห็น กระต่ายป่า นกชนิดต่าง ๆ จำนวน 200 ชนิด จากจำนวนไม่น้อยกว่า 293 ชนิด ที่สำรวจพบอาศัยอยู่บริเวณป่าเขาใหญ่ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและที่อาศัยอย่างถาวร นกที่น่าสนใจและพบเห็นได้บ่อย ได้แก่ นกเงือก นกขุนทอง นกขุนแผน นกพญาไฟ นกแต้วแล้ว นกโพระดก นกแซงแซว นกเขา นกกระปูด ไก่ฟ้า และนกกินแมลงชนิดต่าง ๆ นกเงือกทั้ง 3 ชนิด ที่พบบนเขาใหญ่นับว่าเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชอบดูนกเป็นอย่างดี เพราะพบเห็นได้ทั่วไป พวกแมลงที่มีมากกว่า 5,000 ชนิด ที่สวยงามและพบเห็นบ่อย ได้แก่ ผีเสื้อที่มีรายงานพบกว่า 216 ชนิด


สินค้ารวม