Custom Search

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

ลำน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี/ ท่องเที่ยวป่าเขา ไทยคึกคัก










ลำน้ำสะแกกรัง

ที่ผ่านตัวจังหวัดอุทัยธานี เป็นแม่น้ำสายหลักหล่อเลี้ยงชาวเมืองอุทัยมาช้านาน บริเวณสองฝั่งแม่น้ำจะมีเรือนแพเป็นเรือนไม้สร้างคร่อมบนแพลูกบวบไม้ไผ่ลอยอยู่เรียงราย ฝั่งแม่น้ำด้านตะวันตกมีอาคารบ้านเรือนอยู่หนาแน่น และเป็นตลาดใหญ่ ส่วนฝั่งแม่น้ำด้านตะวันออกเป็นเกาะเทโพ มีทุ่งนา สวนผัก สวนผลไม้ และป่าไผ่ตามธรรมชาติ ทุกเช้าชุมชนชาวลุ่มน้ำสะแกกรังจะพายเรือนำผลผลิตของตนมาขายที่ตลาดสดเทศบาล อันเป็นที่รวบรวมอาหารนานาชนิด มาเพิ่มสีสันให้กับยามเช้า

ชื่อของแม่น้ำสะแกกรัง ได้มาจากไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ต้นสะแก ซึ่งเคยพบได้เป็นจำนวนมากริมแม่น้ำสะแกกรังแห่งนี้ แม้ว่าในปัจจุบัน ต้นสะแกจะแทบไม่มีให้เห็นแล้ว แต่ทิวทัศน์ธรรมชาติสองฟากฝั่ง ก็ยังเป็นที่ประทับใจในการท่องเที่ยวล่องเรือสัมผัสลำน้ำสะแกกรัง มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า ในสมัยก่อน เมื่อพ่อค้าล่องเรือผ่านมา จะรู้ได้ว่าถึงบ้านสะแกกรังแล้ว โดยเฉพาะในเดือนยี่ถึงเดือนสามจะสังเกตได้ชัดเจน ต้นสะแกจะออกดอกเล็กๆ ช่อยาวสีเขียวอมเหลืองห้อยลงมาริมน้ำ

วิถีชีวิตชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง นับเป็นสวรรค์บนผืนน้ำอันอุดมสมบูรณ์ ส่วนใหญ่แล้ว เกือบทุกแพจะมีการเลี้ยงปลากระชัง โดยเฉพาะปลาแรด ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ และชื่อเสียงให้กับจังหวัดอุทัยธานีเป็นอย่างมาก เพราะเนื้อแน่นนุ่มและหวาน บางคนกล่าวว่า เป็นเพราะน้ำที่นี่มีการไหลเวียนดีและอาจมีแร่ธาตุบางอย่างอยู่ วิธีสังเกตปลาแรดที่เป็นปลากระชังให้สังเกตที่ครีบ และหาง จะไม่ยาวสวยเนื่องจากปลาจะว่ายเสียดสีกับกระชัง

วัดอุโปสถาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดโบสถ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง เป็นวัดในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่เต็มไปด้วยโบราณสถานอันทรงคุณค่า ด้านหน้าวัดมีแพโบสถ์น้ำ สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2449 สภาพความเป็นอยู่ตามสองฝั่งลำน้ำสะแกกรัง จึงเหมาะสำหรับนั่งเรือชมทิวทัศน์ โดยจะวนเฉพาะรอบตัวเกาะเทโพ หรือจะนั่งเรือไปถึง อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาทก็ได้ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง ถ้าล่องเรือในช่วงเย็น คือประมาณ 16.00-18.00 น. จะได้เห็นพระอาทิตย์ตกซึ่งสวยงามมาก และในช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะเห็นยอดักปลาเต็มไปหมด

การเดินทางไปยังลำน้ำสะแกกรัง

เส้นทางล่องเรือท่องเที่ยวเริ่มจากบริเวณหน้าตลาดสดเทศบาล หรือจะขึ้นจากท่าเรือหน้าวัดท่าซุงก็ได้ ล่องชมวิถีชีวิตในลำน้ำ ไปสิ้นสุดที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท จุดที่เราจะได้เห็นแม่น้ำสะแกกรังไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางที่ได้สัมผัสเสน่ห์แห่งชุมชนลุ่มน้ำสะแกกรังอย่างเต็มอิ่ม

กิจกรรมที่น่าสนใจในลำน้ำสะแกกรัง

ล่องเรือในลำน้ำสะแกกรัง

สิ่งน่าสนใจอื่นๆในลำน้ำสะแกกรัง

เรือนแพในลำน้ำสะแกกรัง

วัดอุโปสถาราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าวัดโบสถ์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง

ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวลำน้ำสะแกกรัง

ตลอดทั้งปี

ค่าใช้จ่ายสำหรับการมาเที่ยวลำน้ำสะแกกรัง

เรือหางยาวจุได้ประมาณ 10-12 คน ค่าเช่าเรือ 500 บาทต่อชั่วโมง หากไปถึงมโนรมย์ ราคาประมาณ 1,500 บาท

เรือขนาดใหญ่เหมาราคาประมาณ 3,500 บาท เรือนำเที่ยวขนาดจุได้ 40 คน

คำแนะนำในการท่องเที่ยว

เรือล่องแม่น้ำสะแกกรัง ติดต่อได้ที่บริเวณสะพานวัดโบสถ์ หากเป็นเรือหางยาวจุได้ประมาณ 10-12 คน ค่าเช่าเรือ 500 บาทต่อชั่วโมง หากไปถึงมโนรมย์ ราคาประมาณ 1,500 บาท ติดต่อที่ คุณปริยวัชร สิงห์เรือง โทร. 08 6790 9749 หากต้องการล่องเรือขนาดใหญ่เหมาราคาประมาณ 3,500 บาท เรือนำเที่ยวขนาดจุได้ 40 คน ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ติดต่อคุณวีระ บำรุงศรี หรือ บริษัท อุทัย ริเวอร์ เลค โทร. 08 1830 0653, 08 6577 7781, 0 2538 0335, 0 2538 3705 E-mail: riverlakeman@yahoo.com และบริษัท ชลัมภ์เซ็นเตอร์ โทร. 08 1252 4592, 08 6213 7514 นอกจากนี้มีเรือคยักให้เช่า ติดต่อได้ที่ ลานสุพรรณิการ์ ตรงข้ามศาลากลางจังหวัด ดำเนินงานโดย องค์การปกครองจังหวัดอุทัยธานี โทร. 0 5651 1444, 0 5651 3155

การเดินทางไปยัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง อุทัยธานี









เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

"หลักประกันในการที่จะรักษา พันธุ์ของต้นไม้ พืช และสัตว์ป่าไว้ได้ จำเป็นต้องอาศัยพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่ที่มีความต่อเนื่อง มิใช่มีหลายแห่งแต่กระจัดกระจายเป็นหย่อมเล็กหย่อมน้อย เหมือนเกาะที่อยู่กลางมหสมุทรที่ขาดการเชื่อมโยงติดต่อกัน" (สืบ นาคะเสถียร)

ห้วยขาแข้ง ป่าบริสุทธิ์ (Virgin Forest) ที่คงความสวยงาม และอุดมสมบูรณ์ทั้งพันธุ์พืช และสัตว์ป่า มีลักษณะเด่นทางธรรมชาติหลายประการ เช่น เป็นพื้นที่ซึ่งเป็นที่รวมของระบบนิเวศน์วิทยา ทุกภูมิภาครอบประเทศไทย ได้แก่ ทิศใต้ คือ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ทิศตะวันตก คือ พม่า ทิศเหนือ คือ จีน และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ประเทศแถบอินโดจีน ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของไทย หลายสาย เช่น แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำเจ้าพระยาบางส่วน ห้วยขาแข้ง เป็นแหล่งที่มีพืชพรรณ และสัตว์ป่านานาชนิดกว่า 600 ประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าที่กำลังจะสูญพันธุ์ เช่น ช้างป่า เสือ กระทิง วัวแดง และนกชนิดต่าง ๆ

และด้วยลักษณะอันเป็นเลิศเช่นนี้ ป่าห้วยขาแข้งจึงได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ในคราวประชุมเพื่อคัดเลือกแหล่งมรดกโลก เมื่อ วันที่ 9 - 13 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ประเทศตูนีเซีย ต่อมา เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2538 คณะรัฐมนตรีได้มีมติ กำหนดให้ วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร มรดกโลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักในความสำคัญของพื้นที่ดังกล่าว และร่วมมือร่วมใจ ปกป้องรักษา เพื่อการส่งมอบให้อนุชนรุ่นต่อไปได้อย่างสมบูรณ์

ห้วยขาแข้งมีพื้นที่ครอบคลุม 6 อำเภอ 3 จังหวัด คือ อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี อำเภอสังขละบุรี อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี และอำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก เป็นผืนป่าอนุรักษ์ต่อเนื่องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาค เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปกติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวที่เปิดให้ประชาชนเข้าชม ได้ทั่วไป เพราะพื้นที่นี้จัดเป็นเขตอนุรักษ์และมีความอ่อนไหวสูง เมื่อมีคนจำนวนมากเข้าไปอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านความไม่สมดุล ของระบบนิเวศได้ แต่อย่างไรก็ดีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งซึ่งได้กลายเป็นมรดกโลกและ เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป จึงเปิดจุดผ่อนปรนทั้งหมด 3 จุด ให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปศึกษาธรรมชาติได้แบบไม่ค้างคืน

บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง

บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์

บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี (อยู่ในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ เส้นทาง 3011 ไปทางห้วยแม่ดี-บ้านใหม่คลองอังวะ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติไว้ด้วย)

ห้วยขาแข้งไม่ได้เป็นป่าปิด สำหรับสัตว์ป่าหรือคนเฉพาะกลุ่ม ผมอยากให้ทุกคนได้เข้ามาสัมผัสป่าห้วยขาแข้ง มาเห็นสัตว์ป่า จะได้รู้ว่าป่าห้วยขาแข้ง มีคุณค่า จะได้เกิดความรัก เกิดความความหวงแหนป่าผืนนี้” (สืบ นาคะเสถียร

การเดินทางไปยัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง อุทัยธานี

การเดินทาง มี 2 เส้นทาง คือ

เข้าทางที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 102 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 333 สายอุทัยธานี-หนองฉาง จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 3438 สายหนองฉาง-ลานสัก ถึงหลักกิโลเมตรที่ 53-54 เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ 15 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการเขตด่านตรวจเขาหินแดง ซึ่งตั้งอยู่ริมห้วยทับเสลา จากที่ทำการเขตฯ สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ต่อไปยังหน่วยพิทักษ์ป่ากะปุกกะเปียง ระยะทาง 14 กิโลเมตร และ สถานีวิจัยเขานางรำ ระยะทาง 17 กิโลเมตร

เข้าทางหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได อยู่ทางทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งห่างจากตัวจังหวัด อุทัยธานีประมาณ 137 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 333 สายอุทัยธานี-หนองฉาง แล้วเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 3282 สายหนองฉาง-บ้านไร่ ระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนลูกรังผ่านบ้านใหม่คลองอังวะอีกประมาณ 30 กิโลเมตรถึงด่านตรวจคลองระยาง ไปยังหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี และหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันได สามารถเดินป่าขึ้นล่องได้ทั้งด้านเหนือและใต้ของลำห้วยขาแข้ง

กิจกรรมที่น่าสนใจใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

ศึกษา ถึงความมุ่งมั่นของคุณสืบ นาคะเสถียร ที่ยอมสละชีวิตเพื่อการเรียกร้อง ปกป้องผืนป่าจนนำไปสู่การได้เป็นมรดกโลก

เรียนรู้ถึงคุณค่าของบรรพชีวิน ในผืนป่าห้วยขาแข้ง เพื่อเสริมสร้างความรัก ความผูกพัน และร่วมกันปกป้องผืนป่าที่ทรงคุณค่าแห่งนี้ ให้อยู่คู่แผ่นดินไทยให้นานที่สุด

สิ่งน่าสนใจอื่นๆใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

อนุสรณ์สถานสืบ นาคะเสถียร จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์และระลึกถึงการเสียสละชีวิตของสืบ นาคะเสถียร อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และสานต่อความคิด เจตนารมณ์อันแน่วแน่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และจัดสร้างขึ้นในบริเวณเดียวกันกับสถานที่ที่สืบ นาคะเสถียร ใช้ดำรงชีวิตและทำงาน

อนุสาวรีย์ สีบ นาคะเสถียร อนุสาวรีย์ที่สะท้อนถึงความเป็นนักวิชาการด้านสัตว์ป่าของสืบ นาคะเสถียร ที่ชอบจดบันทึก วาดภาพ ถ่ายรูป แบกเป้เดินป่า

บ้านพักสืบ นาคะเสถียร บ้านพักที่เป็นทั้งที่พักอาศัยและที่ทำงานเมื่อครั้งที่สืบ นาคะเสถียร ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งยังคงรักษาสภาพเดิม จัดแสดงของใช้ส่วนตัวและอุปกรณ์ในการทำงานเหมือนเมื่อครั้งที่สืบ นาคะเสถียร ยังมีชีวิตอยู่

ทางเดินศึกษาธรรมชาติเขาหินแดง เส้นทางเป็นที่ราบ ผ่านสภาพป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และมีพรรณไม้ในสังคมป่าดิบแล้ง ขึ้นผสมอยู่หลายชนิด สามารถพบเห็นร่องรอยของสัตว์ผู้ล่า เช่น เสือโคร่งเสือดาว และสัตว์กินพืช เช่น เก้ง กวาง ช้างหมูป่า รวมทั้งนกนานาชนิด

ทางเดินศึกษาธรรมชาติ จุดชมวิวเขาภักดี เส้นทางส่วนใหญ่ผ่านป่าเต็งรัง เดินไต่ระดับตั้งแต่พื้นราบลัดเลาะไปตามสันเขา ซึ่งมีความลาดชันไม่มาก จนถึงยอดเขาที่ความสูง 330 เมตรจากระดับน้ำทะเล ระหว่างทางจะพบร่องรอยสัตว์ป่า ด่านสัตว์ป่า พรรณไม้ป่า และนกนานาชนิด มีจุดพักชมทิวทัศน์ ได้เป็นบริเวณกว้าง ในหลายจุด

ทางเดินศึกษาธรรมชาติ บ้านของเสือเส้นทางเป็นทางราบผ่านป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ เป็นเส้นทางที่มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับเสือโคร่ง สัตว์ผู้ล่าที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยแสดงวิธีการศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและการติดตามประชากรเสือโคร่ง ในเส้นทางสามารถพบเห็นรอยตีนทั้งเสือโคร่งและเสือดาว

หน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์ อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานีการเดินทางไปศึกษาธรรมชาติ สามารถไปได้ทั้งแบบไป - กลับ และ แบบพักค้างแรมโดยบริเวณลานกางเต็นท์ สามารถรองรับผู้เข้ามาพักค้าง ได้ไม่เกิน 50 คน ต่อวัน

หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี การเดินทางไปศึกษาธรรมชาติ ควรเป็นลักษณะการพักค้างแรม เนื่องจากเส้นทางเข้าหน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี มีระยะทางค่อนข้างไกลและลำบาก โดยบริเวณลานกางเต็นท์สามารถรองรับผู้เข้ามาพักค้างได้ไม่เกิน 50 คนต่อวัน

ประเพณีที่น่าสนใจของ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

วันที่ 9 ธันวาคม ของทุกปี เป็นวันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง - ทุ่งใหญ่นเรศวร มรดกโลก

ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

ตลอดทั้งปี

ค่าใช้จ่ายสำหรับการมาเที่ยว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง

อัตราค่าธรรมเนียมการเข้าใช้สถานที่

คนไทย เด็ก 10 บาท ผู้ใหญ่ 20 บาท

ต่างชาติ เด็ก 100 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาท

คำแนะนำในการท่องเที่ยว

สถานที่พักแรมการเข้าพักแรมต้องไปติดต่อด้วยตนเองอย่างน้อย 20วันล่วงหน้าที่ฝ่ายจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่ากรมป่าไม้ สอบถามรายละเอียด โทร. 0 2561 4292-3 ต่อ 765หรือเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตู้ ปณ.7 อำเภอลานสักจังหวัดอุทัยธานี 61160 โทร. 0 5651 9654

จุดที่ได้รับอนุญาตให้พักแรมได้มีอยู่ 3 จุด

จุดแรก คือบริเวณสำนักงานเขตฯ มีบ้านพักขนาดพักได้ 10-30 คน จำนวน 3 หลังและอาคารฝึกอบรมขนาดจุ 80 คน

จุดที่สอง หน่วยพิทักษ์ป่าไซเบอร์

จุดที่สามคือ หน่วยพิทักษ์ป่าห้วยแม่ดี รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ดูได้ที่เว็บไซต์ www.huaikhakhaeng.net

ท่องเที่ยว วัดอุโปสถาราม อุทัยธานี




ท่องเที่ยว วัดอุโปสถาราม อุทัยธานี

วัดอุโบสถารามเดิมชื่อ วัดโบสถ์มโนรมย์ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังฝั่งตรงข้ามกับตลาดสดเทศบาลเมืองอุทัยธานี สันนิษฐานว่าสร้างใน สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในวัดมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าหลายอย่าง เช่น ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอุโบสถ ซึ่งเป็นภาพเขียนสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเกี่ยวกับพุทธประวัติเริ่มตั้งแต่ ประสูตรจนถึงปรินิพพาน ฝีมือประณีตมาก ส่วนจิตรกรรมฝาผนัง ภายในวิหารเป็นฝีมือช่างสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น เขียนภาพพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทพยดาบนสวรรค์ และภาพปลงสังขาร ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีเจดีย์สามองค์ สามสมัย สามแบบ พระวิหาร พระอุโบสถ หอสวดมนต์ มณฑปแปดเหลี่ยม แพโบสถ์น้ำ พระพุทธบาทจำลอง สมัยรัชกาลที่ 4 พระพุทธรูปหล่อเงินหนัก 50 ชั่ง ยังมีสิ่งของที่น่าชมอีกมาก เช่น เสมาหินสีแดงหน้าโบสถ์ ตู้พระธรรมและตู้ใส่ของเขียนลายกนกเถาลายดอกไม้ และสิ่งของพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้แก่หลวงพ่อจันวัดโบสถ์ เมื่อครั้งเสด็จประพาสต้นที่เมืองอุทัยธานี เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2449 อาทิ บาตรฝาประดับมุก บาตรเนื้อลงหิน บาตรเคลือบ ย่ามเสด็จประพาสยุโรป หม้อน้ำกระโถนปากแตร แจกัน เป็นต้น

มีอาคารสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่น่าชมหลายหลัง ได้แก่ มณฑปแปดเหลี่ยม ลักษณะผสมแบบตะวันตก มีลายปูนปั้นคล้ายไม้เลื้อยที่กรอบหน้าต่าง และมีพระพุทธรูปปูนสลักนูนสูงอยู่ด้านนอกอาคาร เจดีย์หกเหลี่ยม ย่อมุมไม้สิบสองทรงรัตนโกสินทร์ หอประชุมอุทัยพุทธสภา เป็นศาลาทรงไทย ใช้เป็นหอสวดมนต์ หน้าบันประดับลวดลายปูนปั้น

แพโบสถ์น้ำ อยู่ด้านหน้าวัดอุโบสถาราม บริเวณริมแม่น้ำสะแกกรัง สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสมณฑลฝ่ายเหนือเมื่อปี พ.ศ. 2449 เดิมเป็นแพแฝด 2 หลัง มีช่อฟ้าใบระกาเหมือนอุโบสถทั่วไป หน้าบันมีป้ายวงกลมจารึกภาษาบาลี สุ อาคต เต มหาราชาแปลว่า มหาราชาเสด็จฯ มาดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 ได้ซ่อมแซมบูรณะใหม่เป็นหลังเดียวยกพื้น 2 ชั้น ให้เป็นสัดส่วนอาสนะสำหรับสงฆ์ และพื้นที่นั่งสำหรับฆราวาสหลังคาทรงปั้นหยา และย้ายป้ายกลมมาไว้หน้าจั่วตรงกลาง ปัจจุบันแพโบสถ์น้ำหลังนี้ชาวและได้ใช้ประกอบพิธีทางศาสนา เช่น แต่งงาน บวชนาค งานศพ และทำบุญต่าง ๆ



การเดินทางไปยังวัดอุโปสถาราม

เส้นทางที่ 1 เดินข้ามสะพานคอนกรีต ซึ่งเชื่อมระหว่างตลาดกับตำบลเกาะเทโพ

เส้นทางที่ 2 เดินทางด้วยรถยนต์จากตลาดไปตามถนนศรีอุทัย ประมาณ 3 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายขึ้นสะพานพัฒนาภาคเหนือ ข้ามไปเกาะเทโพประมาณ 100 เมตร เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 3 กิโลเมตร

กิจกรรมที่น่าสนใจในวัดอุโปสถาราม

เที่ยวชมวัดเก่าแก่ในเมืองอุทัยธานี

สิ่งน่าสนใจอื่นๆในวัดอุโปสถาราม

มณฑปแปดเหลี่ยม ซึ่งหลวงพิทักษ์ภาษา (บุญเรือน พิทักษ์อรรณพ) สร้างถวายพระสุนทรมุนี (จัน) เจ้าคณะจังหวัด ซึ่งสร้างเสร็จ พ.ศ. 2442

อุโบสถ วิหาร เจดีย์ แพโบสถ์น้ำ และหอประชุมอุทัยพุทธสภา ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างที่งดงาม และเป็นสิ่งสูงค่าของวัดอุโปสถาราม

ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยววัดอุโปสถาราม

ตลอดทั้งปี

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

สำนักงานจังหวัดอุทัยธานี โทร. 0 5652 0737, 0 5651 1063

เขาสะแกกรัง อุทัยธานี/ท่องเที่ยวป่าเขา ไทยคึกคัก





เขาสะแกกรัง

แต่เดิมเรียกกันว่าเขาแก้ว เป็นที่ตั้งของวัดสังกัสรัตนคีรี เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2443 เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปปางมารวิชัยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1โปรดเกล้าฯพระราชทานให้กับหัวเมืองต่างๆ เป็นพระพุทธรูป คู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี เดิมประดิษฐานอยู่ที่วัดขวิด ต่อมาเกิดไฟไหม้เมืองอุทัยธานี วัดขวิดถูกยุบรวมกับวัดทุ่งแก้ว และได้อัญเชิญพระพุทธรูปองค์นี้มาไว้ที่วัดสังกัสรัตนคีรีแห่งนี้

บนยอดเขาสามารถมองเห็น ทิวทัศน์เมืองอุทัยธานี มีมณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง มณฑปนี้มีนามว่าสิริมหามายากุฎาคาร ซึ่งที่บนเขาสะแกกรังเปรียบให้เป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้า เสด็จไปเทศนาโปรดพระพุทธมารดาบนสวนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แล้วเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ ซึ่งตามพุทธประวัติกล่าวว่าพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาที่เมืองกัสนคร และกลายมาเป็นชื่อวัดสังกัสรัตนคีรี ซึ่งสมมุติให้วัดเป็นกัสนคร ในวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 (ตุลาคม) ของทุกปี จะมีงานประเพณี ตักบาตรเทโวโดยจะจัดงานจำลองเหตุการณ์ ให้คล้ายในพุทธประวัติมากที่สุด มีพระสงฆ์ ทุกรูปที่จำพรรษ อยู่ในอำเภอเมืองอุทัยฯเดินลงจากยอดเขาทางบันได โดยมีพุทธศาสนิกชนจำนวนมากมายมาทำบุญกันอย่างคับคั่ง ด้านหน้ามีระฆังใบใหญ่ที่พระปลัดใจและชาวอุทัยธานีร่วมกันสร้างเมื่อ พ.ศ. 2443 ถือกันว่าเป็นระฆังศักดิ์สิทธิ์ ใครที่ไปเที่ยวอุทัยธานีแล้วไม่ได้ขึ้นไปตีระฆังใบนี้ก็เท่ากับไม่ได้ไป เที่ยวอุทัยธานี ใกล้กับมณฑปบนยอดเขาสะแกกรังมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งรัชกาลที่ 1 ซึ่งสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (พระนามเดิมนายทองด้วง) ได้สถาปนาพระอัฐิพระบิดาเป็นสมเด็จพระชนกาธิบดี เมื่อปี พ.ศ. 2338 พระบรมรูปของ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ เป็นรูปหล่อขนาดสองเท่าขององค์จริงประทับนั่งบนแท่นพระหัตถ์ซ้ายถือดาบประจำ ตำแหน่งเจ้าพระยาจักรี ทั้งฝักวางบนพระเพลาซ้าย และทรงวางพระหัตถ์ขวาบนพระเพลาขวา ด้านขวามือมีพานวางพระมาลาเส้าสูง ไม่มียี่ก่า (ขนนก) สวมพระบาทด้วยรองเท้าแตะไม่หุ้มส้นพระบาท

มีพิธีถวายสักการะพระราชานุสาวรีย์แห่งนี้ ในวันที่ 6 เมษายน ของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงที่ดอกสุพรรณิการ์ หรือฝ้ายคำ ดอกไม้ประจำจังหวัดอุทัยธานีบานสะพรั่งอยู่ทั่วไปบนเขาสะแกกรัง และจากพระราชานุสาวรีย์ไปทางป่าหลังเขาประมาณ 200 เมตร จะพบ หมุดแผนที่โลก ซึ่งใช้ในการสำรวจแผนที่ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475

การเดินทางไปยังเขาสะแกกรัง

จากบริเวณลานวัดสังกัสรัตนคีรีจะมีบันได 449 ขั้นตัดตรงขึ้นสู่ยอดเขาสะแกกรังซึ่งทางขึ้นจะมีให้เลือก 2ทางถ้าไม่อยากเดินขึ้นบันไดก็สามารถใช้ทางรถก็ได้ โดยขึ้นทางด้านข้างสนามกีฬาจังหวัด

กิจกรรมที่น่าสนใจในเขาสะแกกรัง

ชมทิวทัศน์เมืองอุทัยธานี

สักการะพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งรัชกาลที่ 1

ชมโบราณสถาน - โบราณวัตถุ

สิ่งน่าสนใจอื่นๆในเขาสะแกกรัง

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถ แห่งรัชกาลที่ 1

มณฑปที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง

ประเพณีที่น่าสนใจของเขาสะแกกรัง

วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 (ตุลาคม) ของทุกปี จะมีงานประเพณี ตักบาตรเทโว

ช่วงเวลาที่เหมาะสม สำหรับการมาท่องเที่ยวเขาสะแกกรัง

ตลอดทั้งปี

หมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ

ประชาสัมพันธ์จังหวัดอุทัยธานี โทร.0 5652 0826, 0 5651 1915



วันเสาร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ประตูชุมพล อ. เมือง จ.นครราชสีมา








ประตูชุมพล อ. เมือง จ.นครราชสีมา

ข้อมูล

ตั้งอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองนครราชสีมาเป็นเมืองหน้าด่านเมื่อ พ.ศ. 2199 อันเป็นปีที่พระองค์เสด็จขึ้นครองกรุงศรีอยุธยา และสร้างกำแพงประตูเมืองอย่างแข็งแรง โดยมีช่างชาวฝรั่งเศส ซึ่งเป็นมิตรประเทศกับกรุงศรีอยุธยาในขณะนั้น เป็นผู้ออกแบบผังเมือง เมืองนครราชสีมาในขณะนั้นมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 1,000 x 1,700 เมตร เดิมมีประตูเมืองทั้งหมด 4 ประตู ได้แก่ ประตูพลแสนด้านทิศเหนือ ประตูพลล้านด้านทิศตะวันออก ประตูไชยณรงค์ด้านทิศใต้ และประตูชุมพลด้านทิศตะวันตก ปัจจุบันเหลือเพียงประตูชุมพลเท่านั้นที่เป็นประตูเมืองเก่า ส่วนอีกสามประตูได้สร้างขึ้นใหม่ ลักษณะประตูชุมพลเป็นประตูเชิงเทิน ก่อด้วยหินก้อนใหญ่และอิฐ ฉาบด้วยปูน ส่วนบนเป็นหอรบสร้างด้วยไม้แก่นหลังคามุงกระเบื้อง ประดับด้วยช่อฟ้า กระจังและนาคสะดุ้ง กำแพงต่อจากประตูทั้งสองข้างก่อด้วยอิฐ ส่วนบนสุดทำเป็นรูปใบเสมา

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ผ่าน จ.สระบุรี มาทาง จ.นครราชสีมา เข้าตัวเมืองนครราชสีมา จากนั้นสังเกตุด้านขวามือของท่าน โดยจะมีป้ายบอกทาง ให้ท่านเลี้ยวขวา แล้วขับตรงไปประมาณ 800 เมตร ก็จะพบประตูชุมพล อยู่ทางด้านขวามือของท่าน ซึ่งอยู่ด้านหลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (อนุสาวรีย์ย่าโม)

สถานที่ท่องเที่ยว จ.นครราชสีมา


สินค้ารวม